บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

อ่านตรงนี้ก่อน

ในบทความชุดนี้ ผมมีวัตถุประสงค์ที่จะนำองค์ความรู้ของวิชาธรรมกายมาเผยแพร่อย่างเป็นวิชาการ หรืออย่างเป็นสาขาวิชาหนึ่ง (Field of study)

สิ่งที่ควรจะรู้ก่อนอื่นเลยก็คือ คำศัพท์ที่ว่า วิชาธรรมกาย และ ธรรมกายศาสตร์ มีความหมายและขอบเขตแค่ไหน อย่างไร
วิชาธรรมกาย หมายถึง การปฏิบัติธรรมตามแบบวิชาธรรมกายของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ซึ่งหลวงพ่อวัดปากน้ำยืนยันว่า เป็นวิชาของพระพุทธเจ้า  แต่ขาดผู้ปฏิบัติตามอย่างถูกต้อง ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 500  หลวงพ่อวัดปากน้ำเป็นผู้สามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง

การค้นพบความรู้ของวิชาธรรมกายได้อีกครั้งหนึ่งนั้น โดยมากจะมีผู้อธิบายว่า หลวงพ่อวัดปากน้ำค้นมาได้โดยบังเอิญ  ซึ่งในแง่หนึ่งก็สามารถที่จะตีความเป็นเช่นนั้นได้

แต่ถ้าพูดกันถึงในระดับของความรู้สูงๆ ของทางศาสนาพุทธแล้ว  การค้นพบวิชาธรรมกายของหลวงพ่อวัดปากน้ำดังกล่าว  ไม่ใช่เป็นเรื่องบังเอิญ  แต่เป็นเรื่องของการบำเพ็ญบารมีอย่างยิ่งยวด อย่างนับภพนับชาติไม่ถ้วนของหลวงพ่อวัดปากน้ำต่างหาก

เรื่องบังเอิญนี้น่าสนใจมาก เพราะ ในทางวิทยาศาสตร์กับทางศาสนามีความเห็นตรงกันว่า ไม่มีเรื่องบังเอิญแบบที่เข้าใจกันนั้น คือ เหตุการณ์ใดเหตุการณ์จะต้องมีสาเหตุความเป็นมา

ความแตกต่างระหว่างวิทยาศาสตร์กับศาสนาในเรื่องบังเอิญนี้ ก็คือ วิทยาศาสตร์ไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมเหตุการณ์บังเอิญเกิดขึ้นได้  แต่ศาสนาพุทธมีคำอธิบายให้กับเหตุการณ์บังเอิญได้

ธรรมกายศาสตร์- วิชาธรรมกาย หมายถึง  การนำการปฏิบัติธรรมตามวิชาธรรมกายมาอธิบายหรือตีความตามหลักของวิชาการสมัยปัจจุบัน  เนื่องจากเนื้อหาคำสอนของหลวงพ่อวัดปากน้ำนั้น  เรื่องที่เป็นเรื่องละเอียดลึกๆ ขนาดเป็นลูกศิษย์ในสายวิชาธรรมกายเอง ก็ยังอ่านไม่ค่อยเข้าใจแล้ว

ถึงแม้ในปัจจุบันนี้ คุณลุงการุณย์  บุญมานุชก็นำตำราวิชาธรรมกายของหลวงพ่อวัดปากน้ำมาขยายความให้ง่ายขึ้นทุกหลักสูตร  เรื่องที่เป็นเรื่องละเอียดลึกๆ  ลูกศิษย์อ่านแล้วก็ยังเข้าใจยากเช่นเดิม  ไม่ต้องพูดถึงคนอื่นๆ

ข้อย้ำก่อนว่า ไม่ได้มีการตีความใหม่ให้กับวิชาธรรมกาย  แต่เป็นการอธิบายในเชิงวิชาการ เพื่อให้คนทั้งโลกสามารถเข้าใจได้ง่ายๆ และสามารถปฏิบัติตามได้ง่ายขึ้น

สำหรับด้านเนื้อหาในบล็อกนั้น  ก็จะกล่าวถึงเรื่องทั่วๆ ไป ง่ายๆ ที่ยังมีความเข้าใจผิดกันอยู่

กล่าวคือ เป็นเรื่องที่พุทธวิชาการหรือพุทธปฏิบัติบางส่วน อธิบายแล้วขาดเหตุผล สับสนวกวนไปมา ข้อเขียนในแต่ละส่วนมีเนื้อหาขัดแย้งกัน  เช่น สอนว่าขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวตน  ตัวตนของเราไม่มี

แต่ก็มีพุทธพจน์ที่ว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน  ทำให้พุทธศาสนิกชนสับสนว่า ตกลงแล้วตัวตนมีหรือไม่ ถ้ามีเป็นอย่างไร

สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน เป็นอย่างไรกันแน่ แยกกันได้หรือไม่  สติปัฏฐาน 4 เป็นวิปัสสนากรรมฐานใช่หรือไม่ สติปัฏฐาน สามารถทำให้บรรลุพระอรหันต์ได้หรือไม่

พระไตรลักษณ์จำเป็นมากหรือสำหรับสังคมไทย ที่เป็นสังคมพุทธมาช้านาน ไม่ใช่สังคมพราหมณ์อย่างเช่นในสมัยพุทธกาล เป็นต้น

นอกจากนั้นแล้วก็จะยังอธิบายสาเหตุของความไม่เข้าใจในเรื่องต่างๆ นั้นด้วยว่า เกิดมาจากสาเหตุอะไร

เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจเนื้อหาของบล็อกนี้ได้ง่ายขึ้น  จึงขออธิบายคร่าวๆ เสียก่อนว่า มีสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้พุทธวิชาการและพุทธปฏิบัติธรรมเข้าใจคำสอนในพระไตรปิฎกผิดเพี้ยนไปมาก

สาเหตุหลักๆ ก็มีดังนี้
1)  เชื่อวิทยาศาสตร์และ/หรือปรัชญาตะวันตกมากกว่าพระไตรปิฎก
2)  ขาดความเข้าใจในเรื่องของภาษาศาสตร์
3)  ไม่ปฏิบัติธรรมและ/หรือปฏิบัติธรรมอย่างไม่ถูกต้อง

1)  เชื่อวิทยาศาสตร์และ/หรือปรัชญาตะวันตกมากกว่าพระไตรปิฎก

1.1) เชื่อวิทยาศาสตร์มากกว่าพระไตรปิฎก
ถ้าแบ่งคนไทยออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่โดยการได้เรียนกับไม่ได้เรียน  จะเห็นว่า คนที่ได้เรียนหนังสือจะเชื่อวิทยาศาสตร์มากกว่าศาสนา 

ดังนั้น คำพูดที่ว่า "นรก-สวรรค์ไม่มี เพราะ พิสูจน์ไม่ได้ในทางวิทยาศาสตร์"  จะพบได้จากพวกที่ได้เรียนหนังสือเท่านั้น

สำหรับคนไทยกลุ่มที่ไม่ได้เรียนหนังสือก็จะเชื่อไปตามเดิมว่า นรก สวรรค์ มีจริงๆ บุญกรรมมีจริง การเวียนว่ายตายเกิดมีจริง

สาเหตุที่คนที่ได้รับการศึกษา มีความเชื่อวิทยาศาสตร์มากกว่าศาสนานั้น เริ่มต้นจากความเข้าใจผิดของนักวิทยาศาสตร์ตะวันตกเอง ที่ดันคิดผิดไปว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้าสู่จุดสูงสุดแล้ว  เป็นความรู้ที่จริงที่สุด ความรู้อย่างอื่นๆ ไม่จริงทั้งหมด

ความเชื่อที่ว่านี้ เป็นความเชื่อของนักวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18  ก็ประมาณร้อยกว่าปีมาแล้ว

เมื่อองค์ความรู้ของวิทยาศาสตร์เข้ามาอาละวาดในเมืองไทย ตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ 4  พุทธวิชาการทั้งหลายที่เห็นว่า "ฝรั่งเป็นเทวดา"  ฝรั่งว่าอะไรมาเป็นถูกหมด ขาดการคิดวิเคราะห์วิจารณ์ ด้วยตัวของตัวเอง  จำอย่างเดียว  ก็ตีความศาสนาพุทธให้เข้ากับวิทยาศาสตร์

คำสอนในพระไตรปิฎกที่วิทยาศาสตร์รับไม่ได้ เพราะ ไม่มีเหตุผลในทางวิทยาศาสตร์ ก็มีการตีความกันใหม่ 

นรก สวรรค์ การเวียนว่ายตายเกิดจึงมีการตีความกันใหม่  จนทำให้เนื้อหาคำสอนของศาสนาพุทธ ผิดเพี้ยนไปหมด

ใครสนใจก็ไปอ่านหนังสือของพระไพศาล  วิสาโล ที่ชื่อว่า พุทธศาสนาไทยในอนาคต : แนวโน้มและทางออกจากวิกฤต ดูได้ 

โปรดอ่านเฉพาะเรื่องที่ว่า ทำไมถึงมีการตีความพระไตรปิฎกให้เข้ากับวิทยาศาสตร์ได้ก็พอ เพราะ ประเด็นอื่นๆ พระไพศาลก็ยังคงมีความผิดพลาด เนื่องจากไปปฏิบัติธรรมแบบไม่ถูกต้อง (ซึ่งจะอธิบายลงลึกในรายละเอียดต่อไปว่า ไม่ถูกต้องอย่างไร)

ในเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์นั้น ปัจจุบันนี้ นักวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ยอมรับเองว่า การที่นักวิทยาศาสตร์สมัยปลายศตวรรษที่ 18 คิดไปอย่างนั้น  เป็นการคิดที่ผิดพลาดอย่างมหันต์  เพราะ วิทยาศาสตร์ยังหาความจริงแท้ๆ ไม่ได้  หาได้เพียงความจริงเฉพาะที่ชั่วคราวเท่านั้น 

การที่มีความเชื่อว่า วิทยาศาสตร์เป็นความจริงอย่างเดียว องค์ความรู้อื่นๆ ไม่จริงหมด ส่งผลเสียนานัปการแก่โลกใบนี้  เนื่องจากวิทยาศาสตร์เก่านั้น มีลักษณะการค้นหาความรู้ที่ต้องเลือกศึกษาสิ่งต่างๆ เฉพาะส่วน

พูดง่ายก็คือ จะศึกษาอะไรก็ตัดออกมาเป็นชิ้นเล็กแล้วก็ศึกษากันไป  จึงทำให้ไม่สามารถหาความจริงในภาพรวมได้

มีนักวิชาการเปรียบเทียบว่า เหมือนกับเดินไปในป่า เห็นแต่ต้นไม้ แต่ไม่เห็นป่า ฉะนั้น
การที่โลกมีคนชั่วมากมาย มีการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล จนกระทั่งโลกอยู่เฉยๆ เหมือนเดิมไม่ได้แล้ว ก็โต้ตอบมนุษย์เข้าบ้าง

จะเห็นว่า เกิดอุบัติภัยใหญ่ๆ ถี่มากในระยะนี้ ก็เป็นผลพวงของการเชื่อวิทยาศาสตร์มากกว่าศาสนานี่แหละ

1.2) เชื่อปรัชญาตะวันตกมากกว่าพระไตรปิฎก
นักปรัชญาเขามีความเชื่อว่า ยังไม่มีองค์ความรู้ใด หาความจริงแท้ได้แล้ว  ดังนั้น เมื่อนักปรัชญาจะศึกษาสิ่งใดก็ตาม ก็มักจะไปเลือกไปหยิบเอาองค์ความรู้นั่นนิด องค์ความรู้นั่นหน่อย มาผสมผสานตีความตามหลักการของเหตุผล พัฒนาเป็นความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมา

ข้อบกพร่องของนักปรัชญาก็คือ ความลำเอียง  คือ ถ้าจะศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็จะไปหาเฉพาะความรู้ที่สอดคล้องมาสนับสนุน

ความรู้ในส่วนที่แย้งก็มีอยู่ ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นซะยังงั้น

ยกตัวอย่างเช่น  พวกที่ชอบสอนว่า "ตัวตนไม่มี"  ตัวเรา เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดกับตัวเป็นเพียงสภาวะ ที่มีเหตุปัจจัยมาประกอบกันชั่วคราวเท่านั้น 

การสอนที่ว่า ตัวตนไม่มีนั้น ขัดกับพุทธพจน์จำนวนมากมายมหาศาล  พวกพุทธปรัชญาก็ทำเป็นว่า ไม่รู้ไม่เห็น ไม่เอามาวิเคราะห์ อย่างเช่น พระสูตรที่ผมยกมานี้

   [๗๑๒] ดูกรอานนท์ ก็ภิกษุเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่
   ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสีย
   ดูกรอานนท์ ภิกษุเป็นผู้มีตนเป็นเกาะมีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะมีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ อย่างนี้แล.

จะเห็นว่า พระพุทธองค์ทรงสอนอย่างชัดเจนว่า ให้พึ่งตนเอง และพึ่งธรรมะ แสดงว่า ตัวตนกับธรรมะ มีความสำคัญเท่าๆ กัน เลยทีเดียว แล้วตัวตนจะไม่มีได้อย่างไร

พวกที่เขียนหรือสอนว่า "ตัวตนไม่มี" นั้น  เมื่อเขียนถึงประเด็นนี้ ก็จะไม่ยกพระสูตรดังกล่าวหรือพระสูตรที่มีเรื่องตัวตนเข้ามาอธิบาย

2)  ขาดความเข้าใจในเรื่องของภาษาศาสตร์
ก่อนที่จะอธิบายต่อไป ขออนุญาตวิเคราะห์วิจารณ์ความคิดของคนไทยที่มีต่อพระภิกษุเสียก่อน เพราะ เกี่ยวข้องกับน้ำหนักของเหตุผลที่จะเขียนต่อไปข้างหน้า

เท่าที่ได้สังเกตความรู้สึกนึกคิดของพุทธศาสนิกชนชาวไทยมาตลอด ผมรู้สึกว่า คนไทยส่วนใหญ่เห็นว่า พระภิกษุที่ตนนับถืออยู่นั้น พูดแต่ความจริงตลอด  คำพูดหรือคำสอนของพระเป็นความจริงตลอดไป

กลุ่มบุคคลเหล่านี้ จะไม่มีสติสัมปชัญญะที่จะมาทบทวนเลยว่า ที่ครูบาอาจารย์สอนหรือที่ครูบาอาจารย์ปฏิบัติอยู่นั้น มันถูกต้องตามพระไตรปิฎกหรือเปล่า

สรุปง่ายๆ ก็ว่า คิดว่าพระโกหกไม่เป็น คำว่า โกหกที่ว่านั้น หมายความรวมถึงโกหกแบบตั้งใจและโกหกแบบไม่ตั้งใจนะครับ

โกหกแบบตั้งใจเป็นยังไง?
ขอให้ดูตัวอย่างสมีที่ปราชิกทั้งหลาย เช่น สมีนิกร สมียันตระ และสมีภาวนาพุทโธ  เป็นต้น พวกนี้ก็โกหกสาวกทั้งนั้น  ก็ยังมีคนเชื่อคนนับถือเป็นจำนวนมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีของ นักโทษชายจำลอง คนซื่อ (สมีภาวนาพุทโธ) ยิ่งน่าสนใจมาก เพราะ ถูกศาลฏีกาตัดสินจำคุก 50 ปี ในข้อหาข่มขืนเด็กผู้หญิง ในปัจจุบันก็ยังอยู่ในคุก

ก็ยังสาวกเชื่อถือไปเยี่ยมเพื่อฟังคำสอนทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี และเอาเงินไปให้อีกด้วย  จนกระทั่ง น.ช. จำลอง มีเงินฝากเป็นสิบล้านบาท  รวยที่สุดในคุกบางขวาง

โกหกแบบไม่ตั้งใจเป็นยังไง?
โกหกแบบนี้ คือ เรียนมายังไงก็สอนไปอย่างนั้น โดยไม่รู้ว่า ที่ตนเองเรียนมานั้นผิด เช่น สาวกของพระพม่า ที่สอนว่า ปฏิบัติธรรมเพียงหัวข้อธรรมะใดหัวข้อธรรมะหนึ่งของสติปัฏฐาน 4 ก็สามารถบรรลุพระอรหันต์ได้

คำสอนดังกล่าวนั้น ไม่จริง  คนที่สอนก็ต้องโกหกแน่ๆ เพราะ เป็นการสอนของไม่จริง แต่เป็นการโกหกแบบไม่ตั้งใจ

คำสอนดังกล่าว ไม่จริงอย่างไร?
1) สติปัฏฐาน 4 ไม่เป็นวิปัสสนา [เห็นแจ้ง]  เป็นเพียงอนุปัสนา [ตามเห็น] เท่านั้น

2) สติปัฏฐาน 4 เป็นโพธิปักขยธรรม ขั้นพื้นฐานเท่านั้น

โพธิปักขิยธรรม คือ ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ ประกอบด้วยธรรมะ 7 หมวด คือ สติปัฏฐาน 4, สัมมัปปธาน 4, อิทธิบาท 4, อินทรีย์ 5, พละ 5, โพชฌงค์ 7, มรรคมีองค์ 8 รวมเป็น 37 จึงเรียกว่า โพธิปักขิยธรรม 37

เมื่อเป็นเพียงสติปัฏฐาน 4 โพธิปักขยธรรม ขั้นพื้นฐาน แล้วปฏิบัติธรรมตามสติปัฏฐาน 4 แต่เพียงอย่างเดียว จะสามารถทำให้บรรลุพระอรหันต์ได้อย่างไร
สติปัฏฐาน 4  เองนั้น  ก็มีหลายบรรพ คือ มี 21 บรรพ ดังนี้

จากสติปัฏฐาน 4 ดังกล่าว  พระพม่าสอนได้เพียงส่วนหนึ่งของกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเท่านั้น แล้วจะบรรลุพระอรหันต์ไปได้อย่างไร

ถ้าพระพม่าอ้างว่า ปฏิบัติธรรมในหัวข้อสัจจบรรพะ/อริยสัจเพียงหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งสามารถทำให้บรรลุพระอรหันต์ได้  ยังจะมีเหตุผลมากกว่าการปฏิบัติธรรมเพียงส่วนหนึ่งของกายานุปัสสนาสติปัฏฐานแล้วบรรลุพระอรหันต์ได้เสียอีก

แต่ถึงจะอ้างอย่างนั้นก็เป็นไปไม่ได้อยู่ดีอีกเช่นกัน

ผมขอเปรียบเทียบให้ดูหลักสูตรการสอนก็แล้วกัน เอาวิชาวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาขึ้นเป็นตัวอย่างก็ได้  จะเห็นว่า ถึงแม้จะเป็นวิทยาศาสตร์เหมือนกัน แต่ระดับความละเอียดลึกซึ้งของเนื้อหาวิชาก็จะแตกต่างกันไป

ดังนั้น สัจจบรรพะ/อริยสัจในสติปัฏฐาน 4 ก็เป็นเพียงพื้นฐานเบื้องต้นเท่านั้น ยังไม่ใช่อริยสัจ 4 ที่จะสามารถทำให้บรรลุพระอรหันต์ได้

กลับเข้ามาถึงเนื้อหาของการขาดความเข้าใจในเรื่องของภาษาศาสตร์ จะขอยกตัวอย่างเพียง 2 อย่างคือ

2.1 คำไวพจน์
คำไวพจน์ในทางศาสนาพุทธก็คือ คำที่มีความหมายใกล้เคียงกันและสามารถใช้แทนกันได้ ซึ่งพุทธวิชาการก็ชอบอธิบายไปในทำนองว่า คำไวพจน์นั้น สามารถแทนกันได้ทุกที่

ในทางภาษาศาสตร์นั้น ไม่มีคำไวพจน์อย่างที่ใช้กันในวงการพุทธวิชาการ การใช้คำที่แทนกันได้นั้น สามารถใช้แทนกันได้ในบางบริบท (context)  ไม่สามารถจะแทนกันได้ทุกที่ทุกบริบท (context) 

พูดให้เข้าง่ายๆ ก็คือ ไม่มีคำ 2 คำที่มีความหมายเหมือนกันทุกประการ ไม่มีคำคู่ใดที่สามารถแทนที่กันได้ทุกบริบท (context) 

ขอยกตัวอย่างเป็นนิทานก็แล้วกัน เพราะ น่าจะเคยได้ยินได้ฟังกันมาบ้างแล้ว

เรื่องก็มีอยู่ว่า คุณยายท่านหนึ่งพาหลานไปทำบุญด้วย ระหว่างที่พระกำลังสวดอยู่นั้น  ผู้เป็นหลานหิวข้าว ก็งอแงให้คุณยายหาข้าวให้กิน

ก็คงจะงอแงจนคุณยายโมโหจนถึงขีดสุด จึงตะโกนออกมาด้วยเสียงอันดังว่า "รอให้พระแดกก่อน แล้วมึงค่อยฉัน"

ก็น่าจะเป็นตัวอย่างอันดีที่แสดงให้เห็นว่า คำไวพจน์นั้น ไม่สามารถแทนกันได้ทุกที่

2.2 ความหมาย
เรื่องความหมายนี้เป็นเรื่องที่ยุ่งยากสลับซับซ้อนมากในทางภาษาศาสตร์ ขนาดเรียนกันถึงปริญญาเอก แล้วทำวิจัยกันแล้วกันอีกก็ยังไม่จบไม่สิ้น  ไม่ต้องพูดถึงเลยว่า พระที่ผ่านเปรียญเก้ามาจะเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ได้ (หมายความว่า ไม่ศึกษาเพิ่มเติมเลย)

พูดกันง่ายๆ ว่า วิชาที่ศึกษากันเกี่ยวกับความหมาย คือ อรรถศาสตร์ (Semantics) นั้น เป็นวิชาใหม่และค่อนข้างจะเข้าใจยาก ถ้าไม่ลงเรียนโดยตรง ให้ครูบาอาจารย์ด่าเสียบ้าง ก็มักจะไม่ค่อยเข้าใจลึกซึ้ง

ขนาดว่าวิชาอรรถศาสตร์ใหม่และยากแล้ว แต่ในทางภาษาศาสตร์มีวิชาที่ใหม่กว่านั้นอีก คือ วิชาวัจนปฏิบัติศาสตร์ (Pragmatics) เป็นการศึกษาวิธีการใช้ถ้อยความ (utterance) เพื่อสื่อความหมายในการสื่อสาร เช่น แบบตรงตัว แบบอุปมาอุปไมย เป็นต้น

โดยสรุปเพื่อให้สั้นเข้า ความหมายของประโยคภาษานั้น ไม่ได้เกิดจากเอาความหมายของคำเข้ามารวมกัน  ความหมายของประโยคสามารถบอกไปถึงความหมายที่นอกเหนือไปจากนั้น 

ขอยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจ ดังนี้

สมมุติว่าท่านกำลังนั่งอยู่ในศูนย์การค้า อาจจะรอเพื่อนหรือรอแฟนอยู่  ท่านก็เห็นวัยรุ่น 2 ท่านเดินมาพบกันที่ข้างหน้าท่านพอดี 

วัยรุ่นท่านหนึ่งใส่ชุดดำ สมมุติว่าชื่อสมัคร  วัยรุ่นอีกท่านหนึ่งแต่งตัวปกติธรรมดา สมมุติว่าชื่อชวลิต

วัยรุ่นทั้ง 2 ท่านนั้น มีบทสนทนาที่ท่านบังเอิญได้ยิน ดังนี้
ชวลิต : ไอ้หมัก ไปไหนมาวะ
สมัคร : ไปเผาลุงของเพื่อนกับแม่มาว่ะ

คำพูดเพียง 2 ประโยคดังกล่าวนั้น ให้ความหมายเป็นจำนวนมากแก่ผู้ฟัง และความหมายนั้นมีมากกว่าความหมายของคำในประโยคที่พูดกันอยู่

ความหมายที่ได้จากประโยคเพียง 2 ประโยคข้างต้น มีอย่างน้อย ดังนี้
1) คุณสมัครมีเพื่อนคนหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย

2) เพื่อนของคุณสมัครนั้น ไม่พ่อกับแม่จะต้องมีพี่ชายอย่างน้อย 1 คนคือ คนที่ตายและเผาไปแล้ว คำว่า ลุงกำหนดให้รู้ว่า ต้องเป็นพี่และเป็นผู้ชาย

3) ครอบครัวของคุณสมัครและเพื่อนนั้น ผู้ปกครองคงจะสนิมสนมกันด้วย และความสนิทสนมเริ่มจากคุณสมัครและเพื่อน ไม่ได้เกิดจากแม่ของคุณสมัคร

โดยปกติแล้ว ถ้าผู้ปกครองไม่สนิทกันด้วย  คุณสมัครก็น่าจะไปพิธีเผาศพคนเดียว และในกรณีนี้ ไม่น่าที่จะเป็นไปว่า  ทางแม่ของคุณสมัครกับแม่เพื่อนสนิทกันมาก่อน

กล่าวคือ แม่กับแม่เป็นเพื่อนกันมาก่อน และลูกกับลูกก็เป็นเพื่อนกันอีก

ถ้าเป็นกรณีอย่างหลังนี้คุณสมัครน่าจะพูดว่า "ไปเผาพี่ชายของเพื่อนแม่มาว่ะ" หรือ "ไปเป็นเพื่อนแม่ในงานศพว่ะ"  ทำนองนี้

สำหรับประโยคของการสนทนาประโยคต่อไปนั้น  เดาได้เลยว่า ประโยคต่อไปคุณสมัครก็ต้องถามคุณชวลิตว่า "เอ้า แล้วแม่มึงไปไหน"

ขอยกตัวอย่างให้ใกล้ตัวอีกนิดหนึ่ง คือ ข้อความจากอนัตตลักขณสูตร ดังนี้  ในส่วนที่ให้พิจารณาโดยยถาภูตญาณทัสสนะ

   [๒๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดูกรภิกษุทั้งหลายเพราะเหตุนั้นแล
   [รูป/เวทนา/สัญญา/สังขาร/วิญญาณ] อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบันภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ ทั้งหมดก็เป็นแต่สักว่า [รูป/เวทนา/สัญญา/สังขาร/วิญญาณ]
   เธอทั้งหลายพึงเห็น [รูป/เวทนา/สัญญา/สังขาร/วิญญาณ] นั้นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา

ผมขอฟังธงด้วยหลักการของทางภาษาศาสตร์เลยว่า ข้อความที่ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา แสดงว่า ตัวตนของเรามี  แต่ไม่ใช่ขันธ์ 5 [รูป/เวทนา/สัญญา/สังขาร/วิญญาณ]

ขอยกตัวอย่างให้เข้าใจขึ้นดังนี้
ตอนที่เป็นนักเรียนอยู่นั้น ครูมักจะพาไปทัศนาจรตอนที่โรงเรียนปิดเทอมเป็นประจำ  ก็เหมารถบัสกันไป  ที่ไปเที่ยวกันนั้น ไม่ใช่มีเฉพาะโรงเรียนเราโรงเรียนเดียว โรงเรียนอื่นเขาก็ไปกัน 

ครั้งหนึ่งไปเที่ยวบางแสน  คนขับก็ปล่อยให้นักเรียนลงไปเที่ยวก่อน แล้วไปหาที่จอดรถทีหลัง 

เมื่อเที่ยวกันพอสมควรแก่เวลาแล้วก็จะกลับ  ผมเดินกลับมาถึงรถแล้ว แต่ยังไม่ขึ้นรถ เพราะ มันร้อน  สมัยนั้นยังไม่มีรถปรับอากาศแบบสมัยนี้ ก็เลยนั่งรอเพื่อนๆ อยู่ในบริเวณนั้น

ระหว่างที่นั่งรออยู่นั้น ก็เห็นเพื่อนสนิทกัน 2-3 คน เดินไปขึ้นรถคันอื่น แบบหน้าตาเฉย

ผมก็วิ่งไปบอกเพื่อนว่า "เฮ้ย ไม่ใช่รถเรา"

ในกรณีเช่นนี้ แสดงว่า รถเราต้องมี  ถ้าผมกับเพื่อนไปรถโดยสาร ผมก็ต้องใช้ประโยคอื่น ๆ เช่น  รถคันนี้ไม่ใช่รถโดยสาร เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า  พุทธวิชาการกับพุทธปฏิบัติธรรมบางท่าน บางสายไม่เข้าใจประเด็นเกี่ยวกับความหมาย  พอมีคนตีความแบบผิดๆ ไปว่า "ตัวตนไม่มี"  เพราะ เข้ากันได้ดีกับวิทยาศาสตร์ที่เชื่อว่า เกิดมาหนเดียว

เมื่อไม่เข้าใจเรื่องความหมาย เห็นฝรั่งเป็นเทวดา  ก็จำกันมาอย่างนั้นอย่างผิดๆ และ สอนกันไปอย่างผิดๆ

ตรงนี้ขอบอกล่วงหน้าเลยว่า วิชาธรรมกายสามารถอธิบายได้ว่า ตัวตนของเรานั้นมีแน่นอน พิสูจน์ได้อย่างเป็นวิชาการ  นอกจากนั้นแล้ว ตัวตนของเรามีทั้งแบบที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และแบบที่เป็นนิจจัง สุขัง อัตตา

3)  ไม่ปฏิบัติธรรมและ/หรือปฏิบัติธรรมอย่างไม่ถูกต้อง

ข้อบกพร่องตรงนี้ แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มคือ

กลุ่มที่หนึ่ง พวกไม่ปฏิบัติธรรมเลย  พวกนี้ส่วนใหญ่ศึกษาศาสนาพุทธแบบปรัชญา คือ ศึกษาโดยเหตุผล คิดไปเรื่อย วิเคราะห์โน่นวิเคราะห์นี่ เปรียบเทียบศาสนาพุทธกับวิทยาศาสตร์ กับศาสนาอื่นๆ  แต่ไม่เคยปฏิบัติธรรมเลย

อาการปวดขา จากการนั่งนานๆ ก็ไม่เคยพบ  กลุ่มนี้จึงไม่มีทางเข้าใจศาสนาพุทธได้อย่างถูกต้องเลย  ถ้ามองในมุมมองของผู้ปฏิบัติธรรมตามสายวิชาธรรมกายแล้ว  น่าสงสารมาก คือ เกิดมาเสียเปล่าไปชาติหนึ่ง ไม่ได้บุญบารมีติดตัวไปบ้างเลย

กลุ่มที่สอง กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ปฏิบัติธรรมกันอย่างจริงจัง เอาจริงเอาจัง แต่ปฏิบัติไม่ถูกทาง 
ไม่ถูกทางอย่างไร?

ก่อนที่จะอ่านตรงนี้ ผมขอให้ทำตัวเป็นกลางๆ ไว้ก่อน คือ อย่าเพิ่งเข้าข้าง หรือ อย่าเพิ่งโต้แย้ง  ถ้าใช้หลักการของแนวคิดทางปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology) ก็คือ ขอให้วงเล็บความรู้เก่าๆ ของตนเองไว้ก่อน 

แล้วพิจารณาว่า ในพระไตรปิฎกนั้น กริยาที่มีความสำคัญที่สุดก็คือ รู้ และ เห็น  ซึ่งในภาษาบาลีก็คือ ญาณทัสสนะ  ญาณคือรู้  ทัสสนะคือเห็น

ถ้าปราศจากญาณทัสสนะแล้ว ไม่มีโอกาสที่จะเข้าใจเนื้อหาธรรมะได้เลย 

คำสำคัญอีก 2 คำก็คือ วิปัสสนา  และตรัสรู้
วิปัสสนา  แปลว่า เห็นแจ้ง  วิ คือ แจ้ง  ปัสสนา คือ เห็น
ตรัสรู้ แปลว่า รู้แจ้ง  ตรัส คือ แจ้ง  รู้นี้เป็นภาษาไทยแล้ว

โดยสรุปก็คือ  ถ้าปราศจากการ "เห็น" แล้ว  เราไม่มีทาง "รู้" ได้เลย  ดังนั้น ในการปฏิบัติธรรม ถ้าไม่เห็นแล้วจะรู้ได้อย่างไร

ดังนั้น สายปฏิบัติธรรมใดก็ตามที่ปฏิเสธการเห็นไปทั้งหมด  การสอนผิดไปจากพุทธพจน์ ผิดไปจากพระไตรปิฎก  ถือว่า เป็นการปฏิบัติธรรมที่ไม่ถูกต้อง

สายปฏิบัติธรรมใดที่ยอมรับว่ามีการเห็นเกิดขึ้นได้ เพราะ ในพระไตรปิฎกนั้น มีคำว่า "เห็น" ประกอบอยู่เป็นจำนวนมาก ก็ต้องมาพิจารณากันว่า ท่านสอนให้ "เห็น" อะไร  เป็นไปตามเนื้อหาของพระไตรปิฎกหรือไม่

ถ้าสอนให้เห็นอะไรเปรอะไป ไม่มีหลักมีเกณฑ์ ไม่มีหลักสูตร ก็ถือว่า เป็นการปฏิบัติธรรมที่ไม่ถูกต้องเช่นเดียวกัน

โดยสรุปในบล็อกนี้ ผมจะนำความรู้ง่ายๆ ในพระไตรปิฎกที่พุทธศานิกชนยังเข้าใจผิดกันอยู่ พุทธวิชาการก็อธิบายไม่ชัดเจน พุทธปฏิบัติธรรมก็อธิบายไม่ชัดเจน แต่วิชาธรรมกายหรือธรรมกายศาสตร์นั้น สามารถอธิบายได้อย่างเป็นวิชาการมานำเสนอ

โปรดติดตาม....